5 ความจริงของวงการดนตรี ที่ศิลปินใหม่จำเป็นต้องรู้และยอมรับมัน
บทความนี้แปลมาจากงานเขียนของ Bobby Borg ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Music Marketing for the DIY Musician
ในยุคของข้อมูลข่าวสารที่เดินทางอย่างรวดเร็ว จากปากต่อปาก ด้วย Social Media ท่ีมีประสิทธิภาพ ยิ่งข่าวสารทางด้านดนตรีด้วยแล้วเข้าถึงผู้ฟังได้เร็วขึ้นมาก เพลงจะดีหรือเพลงจะดับ นั้นขึ้นอยู่กับตัวศิลปิน ตัวนักดนตรี ตัวคุณ ว่าสามารถยอมรับความจริงทั้ง 5 ประการดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ครับ
1. จงทำทุกอย่างด้วยตัวคุณเอง ถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่รอดแน่ (If you don't DIY, you die)
มืออาชีพต่างๆในวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการศิลปิน Agency ค่ายเพลง หรือ สื่อต่างๆ มีความสนใจในนักดนตรี ที่สามารถจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้มีเครื่องมือต่างๆมากมายที่สามารถช่วยโปรโมทงานดนตรีของคุณ สำหรับคนที่ไม่ทำอะไรเลย และรอความหวังจากคนอื่นๆ อย่าหวังว่าจะได้รับอะไรจากธุรกิจนี้ จำไว้เสมอครับ ว่าไม่มีใครที่จะพาคุณจากห้องซ้อมเล็กๆ และดึงขึ้นไปให้กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ได้ ไม่ว่าคุณจะมีความสามารถหรือมีพรสวรค์ขนาดไหนก็ตาม ถ้าคุณต้องการที่จะยกระดับในอาชีพนักดนตรี คุณต้องลุยทำมัน โชว์มัน แสดงมันออกมา เพื่อเรียกความสนใจหรือเปิดโอกาสให้พบกับคนที่สามารถจะช่วยคุณให้ดังได้ครับ
2. มีงานอื่นที่รวยได้เร็วกว่างานทางดนตรี (There’s a quicker path to wealth than a career in music)
อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น ในมิวสิควีดีโอ แมกกาซีน หรือ ตามข่าวบันเทิงต่างๆ บ้านที่ใหญ่โต เรือสำราญ รถหรูๆ ทำตัวเท่ๆ ความสำเร็จที่ได้รับ ทุกอย่างล้วนสร้างภาพเพื่อให้เห็นว่าเส้นทางของศิลปินดังๆ นั้นง่ายและสบาย ความจริงก็คือว่า ความรวยที่เราเห็นเหล่านั้น บ้างครั้งมาจาก การยืม การเช่า การซื้อไปก่อนแล้วหาทางขายทีหลัง หรือ การเอาเงินที่ได้รับจากธุรกิจอื่นมาซื้อ ทั้งนั้นแหล่ะครับ อย่าก้าวเท้าพลาดครับ ถ้าคุณอยู่ในเส้นทางดนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อจะหาเงินอย่างรวดเร็ว คุณควรไปทำอาชีพอื่นแทน เช่นลงทุนทางด้านแลกเปลี่ยนเงิน หรือ ไปเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น จะดีกว่าครับ ในการเงินก้อนที่จะทำให้อยู่สบายสำหรับอาชีพนักดนตรีนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรครับ ผมขอแนะนำว่าคุณควรจะโฟกัสให้ถูกจุดมากกว่า โฟกัสในการทำผลงานออกมาให้มีคุณภาพ จงสร้างงานที่มีคุณค่า ที่คุณภูมิใจ สิ่งเหล่านั้นสามารถที่จะให้คุณอยู่ได้ อย่างพอเพียงครับ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นแค่น้ำหวานที่จะตามมาทีหลังครับ
3.ไม่ใช่ถามว่า "จะหาเงินได้เท่าไหร่?" แต่ควรจะถามว่า "คุณได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง?" (What you learn is as important as what you earn)
มันทำให้ผมเซ็งทุกครั้งที่เห็นว่า นักดนตรีส่วนใหญ่จะมัวแต่สนใจว่าพวกเขาจะได้รับเงินเท่าใด มากกว่า ประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับ นักดนตรีมักจะบ่นกันเสอว่า ตั๋วคอนเสริต์ขายได้เยอะมั้ย? ทำเพลงออกมาแล้วจะขายได้มั้ย? อันนี้มันงานการกุศลหรือเปล่าครับ? แต่สิ่งที่ผมมองเห็นนั้นก็คือ ประสบการณ์ต่างๆเป็นสิ่งมีค่าครับ มันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจ่ายเงินครับ จงจำไว้นะครับ ยิ่งคุณแสดงเยอะเท่าไหร่ หรือแต่งเพลงมากเท่าไหน ประสบการณ์ในการทำยิ่งเยอะขึ้นเท่านั้น นั้นหล่ะครับจะเป็นตัววัด ชั้นดีสำหรับศิลปินมืออาชีพ และเป็นโอกาสที่ดีในการกำหนดราคาที่สมเหตุสมผล ในงานของคุณครับ สำหรับผู้เริ่มต้น ต้องคิดเสมอว่า คุณได้เรียนรู้อะไรไปบ้างในการแสดงในแต่ละครั้งครับ ไม่ใช่มานั่งต่อรองค่าตัวครับ
4.ดนตรี ไม่ใช่ของแถม และไม่ใช่ของฟรี (Music is never free)
คุณใช้เวลาหลายปี ในการสร้างผลงานเพลงของคุณขึ้นมา คุณใช้เงินหลายหมื่นในการบันทึกเสียง และใช้เงินหลายพันในการออกแบบอัลบั้มของคุณสำหรับขาย เมื่อนำมารวมกันเท่ากับว่าคุณลงทุนไปกับมันร่วมแสนบาท นี่ยังไม่รวมเวลาที่มีค่าของคุณที่ต้องทุ่มเทในผลงานชิ้นนี้ ดังนั้นอย่าครับ อย่าให้ใครง่ายๆ อย่าให้ใครฟรีๆครับ ต่อจากนี้ไปคุณต้องสร้างคุณค่าให้กับผลงานนี้โดยการ บอกทุกคนว่า ผลงานชิ้นนี้สร้างจากโปรดิวเซอร์ และนักดนตรีมืออาชีพคุณภาพคับแก้ว และทำจากสตูดิโอที่มีเทคโนโลยีในการทำเพลงที่ดีที่สุดทันสมัยที่สุด และอธิบายให้เขาฟังว่าความใส่ใจที่คุณทุ่มลงไปกับผลงานนี้มันมหาศาล คุณมั่นใจได้เลยว่า CD หรือ USB ที่คุณยื่นให้กับสถานีวิทยุ หรือ ในคลับต่างๆ มันจะถูกเปิดให้คนฟังแน่นอนครับ หนทางที่จะได้มาในสายอาชีพนี้ ต้องอาศัยเลือด เหงื่อ เม็ดเงิน และความพยายามเป็นอย่างยิ่งครับ ไม่มีอะไรได้มาฟรีและคุณต้องแน่ใจว่าผู้ฟังต้องรับรู้คุณค่าของมันครับ
5. การเซ็นสัญญาหมายถึงการต่อรองเสมอ (Contracts are meant to be negotiated)
หลังจากความพยายามและการทำงานหนักจะส่งผลให้คุณเป็นที่หมายปองของโอกาสต่างๆ และคำว่า เซ็นสัญญา จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตนักดนตรีของคุณครับ ยินดีด้วยครับ แต่!.. อย่าเพิ่งรีบร้อนครับ ต่อไปนี้เป็นสองกฏทองที่ต้อง จำไว้เสมอครับ สิ่งแรก ห้ามเซ็นอะไรก็ตามที่คุณไม่เข้าใจในความหมายของมัน หรืออะไรก็ตามที่กดดันคุณเพื่อให้คุณเซ็น ห้ามเซ็นครับ !! ข้อสองจำไว้เสมอว่า สัญญาส่วนใหญ่มาจากข้อตกลงเริ่มต้นที่ถูกเขียนคร่าวๆสำหรับการต่อรองหลังจากนั้นครับ ใช่แล้วครับ ค่ายเพลงส่วนใหญ่ คาดว่าคุณจะต้องอ่านสัญญาวิเคราะห์มัน และข้อแก้ไขสัญญาฉบับนั้นอย่างแน่นอน และที่แน่ๆค่ายเพลงเหล่านั้นเตรียมตัวมาพร้อมแล้วสำหรับการหาประโยชน์ในตัวคุณให้ได้มากที่สุด ดังนั้นคุณต้องใจเย็นๆทุกครั้งในการเซ็นสัญญาและจำไว้เสมอว่า คุณจะไม่ได้รับในสิ่งที่คุณอยากจะได้รับ แต่คุณจะได้รับในสิ่งที่คุณได้ต่อรองเท่านั้นครับ
CR. จากส่วนหนึ่งของหนังสือ Music Marketing for the DIY Musician Bobby Borg